วิธีการสอนแบบต่างๆ

 วิธีการสอนแบบต่างๆ
1. วิธีการสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)
    ความหมายการสอนแบบบรรยาย
การบรรยาย คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระแล้วบรรยาย คือ พูด บอก เล่า อธิบายเนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน การบรรยายเป็นวิธีถ่ายทอดความรู้ที่ใช้กันมานานในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก สามารถสอนหรือบรรยายให้ผู้ฟังได้ทีละมากๆ โดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่ต้องการนำเสนอความรู้ครั้งละมากๆ โดยใช้เวลาไม่มากนักจึงจัดเป็นวิธีสอนที่ประหยัดเวลาในการเรียนการสอนได้ เป็นอย่างดี วิธีนี้จะเหมาะสมมากหากผู้บรรยายมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความรู้ในเนื้อหานั้นเป็นพิเศษ และต้องการให้ผู้ฟังได้คำอธิบายขยายความ หรือแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นข้อมูลที่หาอ่านจากเอกสารทั่วไปไม่ได้
          วัตถุประสงค์
1. เพื่อผู้เรียนที่มีจำนวนมากได้เรียนเนื้อหาสาระความรู้ที่มีจำนวนมากในเวลาที่จำกัด
2. เพื่อให้ความรู้ประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียนซึ่งค้นหายากหรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
3. เพื่อช่วยนำทางในการศึกษาด้วยตนเอง
4. เพื่อช่วยสรุปประเด็นสำคัญ
          องค์ประกอบของการสอน
1.  มีเนื้อหาสาระ หรือ ข้อความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
2.  มีการบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย)
3.  มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจาการบรรยาย
          ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบบรรยาย
1. เป็นการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระที่นำเสนอโดยครูผู้สอน ผู้บรรยายจะเสนอปัญหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา และสรุปด้วยว่าวิธีการใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามหลักการ
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลายๆแนวคิดก่อนที่จะสรุปเป็นข้อคิดหรือทางเลือกที่เหมาะสม
          ขั้นตอนการสอน
1.ขั้นเตรียมการสอน ประกอบด้วย
          1.1 วินิจฉัยผู้เรียน โดยพิจารณาถึงพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน อาจใช้วิธีพูดคุย ซักถาม หรือแบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอน
          1.2 เตรียมเนื้อหา โดยพิจารณาถึงความละเอียด ลึกซึ้ง มากน้อย และตามลำดับของเนื้อหา ให้เหมาะสมกับเวลาและลักษณะของผู้เรียน
          1.3 เตรียมคำถาม เพื่อใช้ถามผู้เรียนระหว่างการบรรยาย จะช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวและสนใจได้ดีขึ้น
       1.4 เตรียมสื่อการเรียนการสอน โดยเตรียมสื่อให้พร้อมอยู่ในสภาพใช้การได้ดี อาจเป็น สไลด์ แผ่นใส ภาพ ฯลฯจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
          1.5 ขั้นเตรียมการวัดและประเมินผล อาจจัดทำเป็นการทดสอบหลังเรียน เพื่อวัดดูว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงไร
          2.  ขั้นสอน ประกอบด้วย
                    2.1 ขั้นนำ อาจใช้วิธี
          - ซักถามพูดคุยกับผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียน
          - ทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
2.2 ขั้นอธิบาย เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนผู้สอนควรได้ดำเนินการ ดังนี้
          1)  บอกโครงเรื่อง เครือข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน
          2)  อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน
          3)  สังเกตปฏิกิริยาตลอดเวลาเพื่อการย้ำหรือหยุดทบทวนใหม่
          4)  ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
          5)  ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งชัดเจนในบทเรียน
          6)  ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพ ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา อารมณ์ขันที่เหมาะสม
2.3 ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการบรรยาย อาจใช้วิธี
          - สรุปโยงเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ
          - ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์
          - ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ
          - เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามปัญหา
          - มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าต่อเพิ่มเติม
          - บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป
3. ขั้นติดตามผล ประกอบด้วย
3.1 วัดและประเมินผลผู้เรียน โดยอาจใช้วิธี
          1. ตรวจสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดบรรยาย
          2. ถามคำถามในเนื้อหาที่บรรยาย
          3. ให้ทำข้อสอบหรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม
3.2 วัดผลและประเมินผลผู้สอน โดยอาจใช้วิธี
1. จัดทำแบบสอบถามให้ผู้เรียนได้ทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับวิธีการสอน การอธิบาย การใช้น้ำเสียง บุคลิกท่าทาง  
2. ให้เพื่อนครูได้เข้าสังเกตการณ์สอน แล้วให้ข้อเสนอแนะเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสอน
3. บันทึกการบรรยายของตนแล้วนำไปพิจารณาประเมินผล
ข้อดีของการสอนแบบบรรยาย
1. ประหยัดเวลา เพราะสามารถใช้กับผู้เรียนได้จำนวนมาก
2. ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่เป็นจุดเด่นจากตำราหลายๆ เล่มมาประมวลและนำมาบูรณาการไว้ด้วยกันในการบรรยาย
3. สำหรับเนื้อหายุ่งยากและซับซ้อน ผู้เรียนได้ฟังบรรยายแล้วจะเข้าใจง่ายกว่าไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า และอาจไม่เข้าใจ
4. ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นหรือข้อชี้แนะจากผู้สอนที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียนดีขึ้น
5. ดำเนินการสอนได้รวดเร็ว
6. ผู้เรียนไม่ต้องทำงานมาก รับรู้เรื่องราวได้โดยตรง
7. เหมาะสมกับเนื้อหาที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน
8. ฟังการบรรยายก็เข้าใจง่ายกว่าค้นหาเอง
ข้อเสียของการสอนแบบบรรยาย
1. ถ้าใช้บ่อยๆโดยไม่พิจารณาความเหมาะสม อาจทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
2. ไม่เอื้อต่อการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ซึ่งเป็นความสามารถทางปัญญาชั้นสูง
3. ไม่ค่อยเกิดการพัฒนาด้านเจตคติและทักษะพิสัย
4. เป็นการสอนที่เน้นครูหรือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง
5. ความรู้ที่ได้รับจากการฟังเพียงอย่างเดียวอาจลืมง่าย เป็นความทรงจำที่ไม่ถาวร
6. ผู้สอนต้องรู้จักการสร้างบรรยากาศด้วยวาทศิลป์ เพื่อมิให้ผู้ฟังสูญเสียความสนใจ
7. ครูควรแสดงท่าทางประกอบการเคลื่อนไหวบ้างพอสมควรอย่าให้มากเกินไป
8. ครูควรบรรยายจากข้อมูลไปหาข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดเป็นอย่างมาก
9. ควรมีการซักถามเด็กบ้างระหว่างที่บรรยายเช่น ให้ช่วยออกความคิดเห็นต่างๆ เป็นต้น
10. เสียงดังชัดเจนมีการเน้นสูงต่ำเป็นจังหวะ
11. ใช้ภาษาและคำพูดง่ายๆ ให้เด็กฟังแล้วเข้าใจ
12. ครูควรใช้รูปภาพหรือวัสดุอื่นประกอบคำอธิบาย
13. เป็นวิธีการสอนผู้เรียนมีบทบาทน้อยจึงทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจในการบรรยาย
14. เป็นวิธีการสอนที่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล

2. วิธีการสอนแบบสาธิต (Demonstration Method)
     ความหมายการสอนแบบสาธิต
          การสอนแบบสาธิต หมายถึง การที่ครูหรือนักเรียนคนใดคนหนึ่งแสดงบางสิ่งบางอย่างให้นักเรียนดู  หรือให้เพื่อนๆดู อาจเป็นการแสดงการใช้เครื่องมือแสดงให้เห็นกระบวนการวิธีการ กลวิธีหรือการทดลองที่มีอันตราย ซึ่งไม่เหมาะที่จะให้นักเรียนทำการทดลอง การสอนวิธีนี้ช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถทำในสิ่งนั้นได้ถูกต้อง ยังเป็นการสอนให้นักเรียนได้ใช้ทักษะในการสังเกต เป็นการสอนที่ได้ประสบการณ์ตรงวิธีหนึ่ง วิธีสอนแบบสาธิต จึงเป็นการสอนที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เพราะผู้สอนเป็นผู้วางแผน ดำเนินการ และลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนอาจมีส่วนร่วมบ้างเล็กน้อย วิธีสอนแบบนี้จึงเหมาะสำหรับ จุดประสงค์การสอนที่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนการปฏิบัติ เช่น วิชาพลศึกษา ศิลปศึกษา อุตสาหกรรมศิลป์ วิชาในกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ เป็นต้น
          วัตถุประสงค์
1. ให้ผู้เรียนได้เกิดการรับรู้หลาย ๆ ด้าน เช่นการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสเพื่อพัฒนาการฟัง การสังเกตและเพื่อกระตุ้นความสนใจให้นักเรียนมีความสนใจบทเรียนยิ่งขึ้น
2. มุ่งให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์กว้างขึ้น
3. ให้ผู้เรียนได้เข้าใจลำดับขั้นต่าง ๆ และสามารถสรุปผลได้
4. เป็นกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติไปพร้อมกับวิธีการสอนวิธีอื่น ๆ ด้วยได้
จำนวนผู้เรียน
การสาธิตเป็นการแสดงให้ดู การลองทำหรือผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติ ดังนั้นการจัดกลุ่มผู้เรียนต้องไม่มากเกินไป เช่น 5-7 คน หรือน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มผู้เรียนจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย วิธีการสาธิต สถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการสาธิต
ระยะเวลา
          ระยะเวลาของการสาธิตขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการจัดเนื้อหา เรื่องราวที่จะสาธิตเป็นสำคัญหากมีขั้นตอนและเนื้อหามาก การสาธิตก็ต้องใช้เวลานาน หรืออยู่ที่วิธีการสาธิต บางอย่างผลของการสาธิตต้องอาศัยเวลานานจึงจะเห็นผลที่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมสาธิตบางเรื่องสามารถเน้นผลได้ในทันที
ลักษณะห้องเรียน
การสอนแบบสาธิต อาจจะแบ่งลักษณะของห้องเรียนหรือสถานที่ได้ 3 รูปแบบ คือ
          1. การสาธิตในห้องทดลอง กระบวนการสาธิตในลักษณะนี้จะต้องอาศัยอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องทดลอง เช่น การสาธิตเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ การผสมสารเคมี ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและขั้นตอน ผู้สาธิตต้องรู้และเข้าใจกระบวนการสาธิตเป็นอย่างดี เพราะรูปแบบการสาธิตวิธีนี้บางครั้ง หากทำผิดพลาดอาจจะเกิดเรื่องเสียหายได้
          2. การสาธิตในห้องเรียน รูปแบบการสาธิตวิธีนี้อาจจะเป็นการสาธิตเรื่องราวต่าง ๆ ของบทเรียนที่มี ไม่จำเป็นต้องทำในห้องทดลอง และบางครั้งก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย เช่น การสาธิต วิธีการ การสาธิตท่ายืน เดิน นั่ง การสาธิตท่ากราบไหว้ที่ถูกต้อง เป็นต้น
          3. การสาธิตนอกห้องเรียน การสาธิตรูปแบบนี้อาจจะต้องใช้สถานที่นอกห้องเรียน เช่น สนามกีฬา หรือในแปลงสาธิตทางการเกษตร เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยสถานที่ หรือบริเวณกว้างขวางกว่าห้องเรียน
ลักษณะเนื้อหา
          รูปแบบการสอนแบบสาธิตสามารถใช้ได้กับเนื้อหาในทุกวิชา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสอน และผู้สอนวิเคราะห์แล้วว่าการใช้กิจกรรมการสาธิตจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุด เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การสาธิตวิธีการประกอบอาหาร หรือการสาธิตการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายในท่าที่ถูกต้อง ฯลฯ จะสังเกตได้ว่าเป้าหมายของการสอนแบบสาธิตคือ ต้องการให้ผู้เรียนได้เน้นกระบวนการของเรื่องหนึ่งเรื่องใด เพื่อที่ผู้เรียนจะได้นำไปปฏิบัติได้
          บทบาทผู้สอน
          วิธีสอนแบบสาธิตส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทของผู้สอนมากกว่าผู้เรียน ทั้งนี้การสอนแบบสาธิตจะมีลักษณะใกล้เคียงกับการแสดงโดยต้องการทำให้ดู และการบอกให้เข้าใจ บางครั้งเรื่องที่สาธิตนั้นอาจจะมีขั้นตอนหรือต้องอาศัยความชำนาญการในการทำ หรือบางครั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสาธิตนั้นมีราคาแพง หรือแตกหักชำรุดง่าย ผู้สอนจึงต้องเป็นผู้ทำเสียเอง อย่างไรก็ตามการสาธิตที่ดีนั้นผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะหากการเรียนการสอนเน้นอยู่ที่ตัวผู้เรียน ผู้เรียนต้องมีโอกาสได้สาธิตด้วยตนเองให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง
          บทบาทผู้เรียน
          วิธีสอนแบบสาธิตโดยทั่วๆ ไป ผู้เรียนจะมีบทบาทน้อยเป็นเพียงผู้ดูและผู้ฟัง อาจจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย เท่านั้น แต่การสาธิตที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ยิ่งถ้ามีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงด้วยคือ มีโอกาสได้ปฏิบัติภายหลังการสาธิตด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
          แนวทางในการสาธิต
                   1. การสาธิตแบบบอกความรู้เป็นการสาธิตที่แจ้งให้ผู้เรียนทราบก่อนการสาธิตว่าจะทำอะไร อย่างไรและจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วให้ผู้เรียนสังเกตการณ์สาธิต พร้อมอธิบายตามไปด้วย
                   2. การสาธิตแบบค้นพบความรู้เป็นการสาธิตที่ผู้สาธิตหรือครูตั้งคำถามให้ผู้เรียนคาดคะเนคำตอบ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจแล้วจึงให้ผู้เรียนคอยสังเกตจาการสาธิตว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อย่างไร
         ประเภทของการสาธิต
การสาธิตแบ่งออกเป็น  6 ประเภทดังนี้
1. ครูแสดงการสาธิตคนเดียว
2. ครูและนักเรียนร่วมกันสาธิต
3. กลุ่มนักเรียนเป็นผู้สาธิต
4. นักเรียนคนเดียวเป็นผู้สาธิต
5. วิทยากรเป็นผู้สาธิต
6. การสาธิตเงียบ
เทคนิคการสาธิต
          การสาธิตในเรื่องที่แปลกใหม่ น่าสนใจ จะเน้นให้นักเรียนเห็นกระบวนการอย่างชัดเจน โดยมีส่วนร่วมในการสาธิต ตั้งคำถาม ซึ่งช่วยในการสอนแบบสาธิตได้ผลดียิ่งขึ้นเทคนิคการสาธิตมีดังนี้
          1. เลือกสาธิตเรื่องที่สนใจและเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับนักเรียน
          2. ไม่ควรบอกผลการสาธิตให้นักเรียนทราบล่วงหน้า
          3. พยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสังเกตซักถามและตอบคำถาม
          4. ในระหว่างสาธิต ไม่ควรบรรยายมากเกินไป
          5. ไม่ควรเร่งการสาธิต อาจทำให้นักเรียนตามไม่ทัน และไม่เข้าใจ
          6. ควรให้เด็กทุกคนมองเห็นได้ทั่วถึง และครูควรเอาใจใส่ต่อผู้เรียนทุกคน
          7. การสรุปผล ควรให้นักเรียนเป็นผู้สรุป
          8. ต้องประเมินผลการสาธิตทุกครั้งว่าเด็กเข้าใจหรือไม่
ขั้นตอนการสอนแบบสาธิต
วิธีการสอนแบบสาธิตมีขั้นตอนการสอนดั้งนี้
1. ขั้นเตรียมการสาธิต เป็นขั้นตอนการทำการสาธิต ซึ่งครูควรเตรียมตัวดังนี้
1.1 ศึกษาบทเรียนที่จะสาธิตให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
1.2 เตรียมอุปกรณ์ที่จะสาธิตให้พร้อม
1.3 ทดลองการสาธิตดูก่อน
1.4 จัดชั้นเรียนให้เหมาะสมกับการสาธิตบทเรียน
1.5 เขียนแผนภูมิแสดงขั้นตอนของการสาธิตไว้
 2. ขั้นสาธิต เมื่อครูเข้าสู่ชั้นเรียนแล้ว จึงดำเนินการสอนตามลำดับดังนี้
2.1 เร้าความสนใจของนักเรียน
2.2 ทำการสาธิตให้นักเรียนดู โดยยึดหลักในการสาธิตดังนี้
2.2.1 สาธิตตามลำดับขั้น
2.2.2 สาธิตช้าๆพร้อมกับบรรยายเพื่อให้นักเรียนตามทัน
2.2.3 สาธิตเฉพาะเรื่องบทเรียนนั้นๆ
2.2.4 ให้นักเรียนเห็นทั่วถึงหรืออาจให้นักเรียนออกมาสังเกตการสาธิตที่ละกลุ่ม
2.2.5 ครูคอยสังเกตความสนใจและความตั้งใจของนักเรียน
2.2.6 ครูให้นักเรียนมาร่วมทำการสาธิตด้วยได้
2.2.7 เน้นขั้นตอนสำคัญๆของการสาธิตและเขียนสรุปบนกระดานดำ
 3. ขั้นสรุปและวัดผล
3.1 ให้นักเรียนร่วมกันเล่าสรุปเป็นตอนๆ
3.2 ให้นักเรียนทุกคนเขียนข้อสรุปส่งครูเพื่อให้คะแนน
3.3 ให้นักเรียนสาธิต เพื่อสังเกตดูว่านักเรียนทำได้และเข้าใจหรือยัง
3.4 ทดสอบ
ข้อดีของการสอนแบบสาธิต
1. นักเรียนมองเห็นตัวอย่างแบบอย่างขั้นตอน ของการปฏิบัติทำให้เข้าใจลึกซึ้งมีเหตุผล
2. ประหยัดเวลาของครูและนักเรียนเพราะนักเรียนจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจน
3. ประหยัดวัสดุ
4. การสาธิตให้ดูแล้วปฏิบัติย่อมปลอดภัย
ข้อจำกัดของการสอนแบบสาธิต
1. การควบคุมชั้นเรียนอาจมีปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อยในชั้นเรียน
2. หากการเตรียมตัวไม่ดีพออาจเกิดอุบัติเหตุหรือผิดพลาด
3. หากการสาธิตไม่เป็นไปตามขั้นตอนอาจทำให้เสียเวลามาก

 3. วิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E
     ความหมายการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E)
การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามขั้นตอนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้สรุปไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E)
          1) ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจซึ่งเกิดขึ้นจากความสงสัย หรืออาจเริ่มจากความสนใจของตัวนักเรียนเองหรือเกิดจากการอภิปรายภายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนรู้มาแล้ว เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่ศึกษา ในกรณีที่ไม่มีประเด็นใดที่น่าสนใจ ครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่างๆ หรือเป็นผู้กระตุ้นด้วยการเสนอด้วยประเด็นขึ้นมาก่อน  แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจเป็นเรื่องที่จะใช้ศึกษาเมื่อมีคำถามที่น่าสนใจและนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นประเด็นที่ต้องการศึกษา จึงร่วมกันกำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความชัดเจนมากขึ้น อาจรวมทั้งการรับรู้ประสบการณ์เดิม หรือความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องหรือประเด็นที่จะศึกษามากขึ้น และมีแนวทางที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอย่างหลากหลาย
2) ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration) เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางสำหรับการตรวจสอบตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่นทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงหรือจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป
3) ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูลข้อสนเทศที่ได้มิเคราะห์ แปลผล สรุปผลและนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่าง ๆ เช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือรูปวาด สร้างตาราง ฯลฯ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมติฐานที่ตั้งไว้ โต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้
4) ขั้นขยายความรู้ (Elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือความคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ถ้าใช้อธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้มากก็แสดงว่าข้อจำกัดน้อย ซึ่งจะช่วยให้เชื่อมโยงกับเรื่องต่าง ๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น
5) ขั้นประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆการนำความรู้หรือแบบจำลองไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์หรือเรื่องอื่น ๆ จะนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดซึ่งจะก่อให้เกิดประเด็นหรือคำถาม หรือปัญหาที่จะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไป ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ จึงเรียกว่า Inquiry cycle กระบวนการสืบเสาะหาความรู้จึงช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลักและหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อไป
          ข้อดีของการสอนแบบการสืบเสาะหาความรู้ (5E)
          1. นักเรียนสร้างความสัมพันธ์จากการสังเกตส่วนต่างๆ เพื่อจะตอบปัญหา ตรงนี้ทำให้นักเรียนได้พัฒนาการคิดจากข้อมูลที่มีและนักเรียนได้แสวงข้อมูลเอง ได้ประสบการณ์ตรงได้พัฒนาการคิด หรือกระตุ้นความคิดจากกิจกรรมการเรียนตลอดเวลา
          2. การอธิบายเป็นผลมาจากการสำรวจ ทำให้นักเรียนทำการสำรวจอย่างมีความหมายตื่นตัวที่จะทำการสำรวจอย่างจริงจัง และฝึกทักษะการสื่อสาร นักเรียนได้กล้าแสดงความคิด ตัดสินใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
          3. นักเรียนมีความชัดเจนในมโนทัศน์มากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น โดยการให้โอกาสนักเรียนได้เกี่ยวข้องกับปัญหาใหม่ สถานการณ์ใหม่ เพื่อเสริมความเข้าใจที่ได้จากการสำรวจ นักเรียนได้แลกเปลี่ยนข้อคิด ข้อมูลกับกลุ่มเพื่อน เพื่อปรับขยายถ่ายโยงความคิด จนได้เห็นความคิดที่ชัดเจนครอบคลุม และมีความเป็นไปได้สูง
          4. คำตอบของปัญหาแต่ละปัญหาได้มาจากการกระทำกิจกรรมหรือการปฏิบัติการทดลองซึ่งทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการทดลอง ได้คำตอบด้วยตัวนักเรียนเองอาจจะเป็นคำตอบที่ได้แลกเปลี่ยนข้อคิด ข้อมูลกับกลุ่มเพื่อน เพื่อปรับขยายถ่ายโยงความคิด จนได้เห็นความคิดที่ชัดเจนครอบคลุม และมีความเป็นไปได้สูง
          5. ให้โอกาสนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการประเมิน ทำให้ภาพของการประเมินชัดเจนมีความถูกต้องสูง และเป็นการฝึกการประเมินให้กับนักเรียน นอกจากนั้นนักเรียนเกิดความรู้สึกที่ดีของการมีส่วนร่วม
          - ฝึกให้นักเรียนได้ประเมินผลด้วยตนเอง และฝึกการตัดสินใจ
          - ฝึกให้นักเรียนเป็นคนมีเหตุผลในการรับข้อมูล หรือมีเหตุผลในการเลือกหรือไม่เลือกสิ่งต่างๆได้
          ข้อเสียของการสอนแบบการสืบเสาะหาความรู้ (5E)
            1. ต้องใช้เวลามากอาจทำให้เรียนไม่ทันตามขอบข่ายของเนื้อหาที่กำหนด
                2. เน้นบทบาทของนักเรียนเกือบทั้งหมดในการสรุปจนได้มโนทัศน์ บทบาทของครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ทำให้นักเรียนอาจมีความคลาดเคลื่อนในข้อสรุป เพราะการสื่อสารของเพื่อนนักเรียนและประสบการณ์ของนักเรียนแตกต่างกัน

 4. วิธีการสอนตามแบบวัฎจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E)
     หลักการและความสำคัญของการสอนแบบ 7E
   การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ย่อมคำนึงถึงเหตุปัจจัยหลายประการที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับกระบวนการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลผลิตและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น การที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่ดี กินดีและมีคุณภาพชีวิตสูงขึ้น สามารถพัฒนาสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข จำเป็นที่จะต้องเปิดรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอน ส่งเสริมแนวคิด คุณธรรม จริยธรรม ที่สองดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมบนพื้นฐานของแต่ละวัฒนธรรมธรรมชาติของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เน้นกระบวนการสืบเสาะแสวงหาความรู้ โดยที่ผู้เรียนค้นพบความรู้ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่ง Eisenkraft (2003) ได้เสนอรูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก 5 ขั้นตอน เป็น 7 ขั้นตอน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้มีความสนใจและสนุกกับการเรียน และยังสามารถปรับประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสู่การสร้างประสบการณ์ของตนเอง
      การสอนตามแบบวัฎจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น เป็นการสอนที่เน้นการถ่ายโอนการเรียนรู้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับ การตรวจสอบความรู้เดิมของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูละเลยไม่ได้ และการตรวจสอบ ความรู้พื้นฐานเดิมของเด็กจะทำให้ครูค้นพบว่านักเรียนต้องเรียนรู้อะไรก่อน ก่อนที่จะเรียนรู้ในเนื้อหา บทเรียนนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
         
ขั้นตอนการสอนตามแบบวัฎจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E)
          1. ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (elicitation phase) ครูจะต้องทำหน้าที่ในการตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้น ให้เด็กได้แสดง ความรู้เดิม คำถามอาจจะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมท้องถิ่น หรือประเด็นข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน และเด็กสามารถเชื่อมโยง การเรียนรู้ไปยังประสบการณ์ที่ตนมี ทำให้ครูได้ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีความรู้พื้นฐานเป็นอย่างไร ครูควรเติมเต็มส่วนใดให้กับนักเรียน และครูยังสามารถวางแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน
          2. ขั้นเร้าความสนใจ (engagement phase)  เป็นการนำเข้าสู่เนื้อหาในบทเรียนหรือเรื่องที่ น่าสนใจ ซึ่งอาจเกิดจากความสนใจของนักเรียน หรือเกิดจากการอภิปรายภายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นหรือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เด็กเพิ่ง เรียนรู้มาแล้ว ครูทำหน้าที่กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถามยั่วยุให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น และกำหนดประเด็นที่จะศึกษาให้กับนักเรียน ในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นที่น่าสนใจครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ วารสาร  อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความคิดขัดแย้งจากสิ่งที่นักเรียนเคยรู้มาก่อนครูเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดโดยเสนอประเด็นที่สำคัญขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้ นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจเป็นเรื่องที่ให้นักเรียนศึกษา เพื่อนำไปสู่การสำรวจตรวจสอบในขั้นตอนต่อไป
         3. ขั้นสำรวจค้นหา (exploration phase) เมื่อนักเรียนทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถาม ที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทาง การสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบ อาจทำได้หลายวิธี เช่น สืบค้นข้อมูล สำรวจ ทดลอง กิจกรรมภาคสนาม เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างพอเพียง ครูทำหน้าที่กระตุ้นให้นักเรียนตรวจสอบปัญหาและดำเนินการสำรวจตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง
           4. ขั้นอธิบาย (explanation phase) เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วนักเรียนก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการ วิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปแบบต่างๆเช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลอง  รูปวาด ตาราง กราฟ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเห็นแนวโน้มหรือความสัมพันธ์ของข้อมูล สรุปและอภิปรายผลการทดลอง โดยอ้างอิงประจักษ์พยานอย่างชัดเจนเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อไป ขั้นนี้จะทำให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมมติฐาน แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปแบบใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยนักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
          5. ขั้นขยายความรู้ (elaboration phase)เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิม หรือแนวคิดเดิมที่ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือ เหตุการณ์อื่นๆ ถ้าใช้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้มากก็แสดงว่ามีข้อจำกัดน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เชื่อมโยง เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น ครูควรจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ให้นักเรียนมีความรู้มากขึ้น และขยายกรอบแนวคิดของตนเองและต่อเติมให้สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม ครูควรส่งเสริมให้นักเรียนตั้งประเด็นเพื่ออภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
          6. ขั้นประเมินผล (evaluation phase) เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่างๆ ว่า นักเรียนรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด ขั้นนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มา ประมวลและปรับประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ ครูควรส่งเสริมให้นักเรียนนความรู้ใหม่ที่ได้ไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมและสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่นอกจากนี้ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน  
7. ขั้นนำความรู้ไปใช้ (extention phase) ครูจะต้องมีการจัดเตรียมโอกาสให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชีวิต ประจำวัน ครูเป็นผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้ นักเรียนสามารถนำความรู้ไปสร้างความรู้ใหม่ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้ได้จากรูปแบบการสอนแบบวัฎจักรการเรียนรู้7ขั้น ควรระลึกอยู่เสมอว่าครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อและแบ่งปันประสบการณ์จัดสถานการณ์เร้าให้นักเรียนได้คิดตั้งคำถามและลงมือตรวจสอบนอกจากนี้ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถบนพื้นฐานของความสนใจความถนัดและความแตกต่างระหว่างบุคคลอันที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้บรรลุสู่จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
          ข้อดีของการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีดังนี้
1. นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาความคิดอย่างเต็มที่ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจึงมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา
2.นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกความคิดและฝึกการกระทำได้เรียนรู้วิธีจัดระบบความคิดและวิธีเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองทาให้ความรู้คงทนและถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ คือทำให้สามารถจดจำได้นานและนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ได้
3. นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน
4. นักเรียนสามารถเรียนรู้มโนทัศน์และหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้เร็วขึ้น
5. นักเรียนจะเป็นผู้มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
          ข้อจำกัดของการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีดังนี้
1.ใช้เวลามากในการสอนแต่ละครั้ง
2.ถ้าสถานการณ์ที่ครูผู้สอนสร้างขึ้นไม่ทำให้น่าสนใจ แปลกใจ จะทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและถ้าครูผู้สอนไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการสอนวิธีนี้ มุ่งควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนมากเกินไปจะทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง
3.นักเรียนที่มีระดับสติปัญญาต่ำและเนื้อหาวิชาค่อนข้างยากนักเรียนอาจจะไม่สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองได้
4.นักเรียนบางคนที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ ทำให้ขาดแรงจูงใจของนักเรียนในการศึกษาค้นคว้าลดลง
5.ถ้าใช้การสอนแบบนี้อยู่เสมออาจทำให้ความสนใจของนักเรียนในการศึกษาลดลง
สรุปว่าการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เป็นการสอนที่ดีนักเรียนเรียนด้วยความเข้าใจไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอนให้นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง

 5. วิธีการสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษา
วิธีการสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษา
วิธีสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษาคือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันวางแผนและเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ณ สถานที่อันเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องนั้น ( ซึ่งอยู่นอกสถานที่ที่เรียนกันอยู่เป็นปกติ ) โดยมีการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการหรือวิธีการที่ได้วางแผน และมีการอภิปรายสรุปการเรียนรู้จากข้อมูลที่ได้ศึกษามา
          วัตถุประสงค์
          วิธีสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษาเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงในเรื่องที่เรียน ได้เรียนรู้สภาพความเป็นจริง ได้ใช้แหล่งชุมชนให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจ และเกิดเจตคติที่ดีต่อทั้งสถานที่นั้นและต่อการเรียนรู้
          องค์ประกอบสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของวิธีสอน
          1.มีการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในเรื่องวัตถุประสงค์ สถานที่ การเดินทาง เรื่องที่จะศึกษา วิธีศึกษา ค่าใช้จ่าย กำหนดการเดินทางและหน้าที่ความรับผิดชอบ
            2.มีการเดินทางออกไปยังสถานที่เป้าหมายซึ่งอยู่นอกโรงเรียน หรือนอกสถานที่ที่เรียนกันอยู่เป็นปกติ
          3.มีกระบวนการในการศึกษาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ในสถานที่นั้น มีการสรุปผลการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากการไปทัศนศึกษา
          ขั้นตอนสำคัญ ( ที่ขาดไม่ได้ ) ของการสอน
          1.ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนร่วมกันในเรื่องวัตถุประสงค์ สถานที่ที่จะไป การเดินทาง สิ่งที่จะไปศึกษา วิธีศึกษา ค่าใช้จ่าย กำหนดการเดินทาง และหน้าที่ความรับผิดชอบ
          2.ผู้สอนและผู้เรียนเดินทางไปยังสถานที่เป้าหมาย
          3.ผู้เรียนศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการหรือวิธีการศึกษาที่ได้วางแผนไว้
         4.ผู้สอนและผู้เรียนเดินทางกลับและสรุปผลการเรียนรู้ หรือผู้สอนและผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้ และเดินทางกลับ
เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ
          ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษาให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรประกอบไปด้วย
          1. การวางแผน ผู้สอนและผู้เรียนจำเป็นต้องมีการวางแผนร่วมกันก่อนจะเดินทางไปทัศนศึกษา สิ่งที่ผู้สอนควรทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้ชัดเจนคือ วัตถุประสงค์ของการไปศึกษา ซึ่งหากวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้ว ผู้เรียนอาจมีส่วนในการเลือกสถานที่ที่จะไปด้วย (ในกรณีที่ผู้สอนไม่เจาะจงสถานที่) เมื่อมีการกำหนดแน่ชัดแล้ว จะเป็นการดีมากหากผู้สอนและ/หรือผู้เรียนบางคนมีโอกาสไปสำรวจสถานที่นั้นก่อน จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่ดีในการวางแผนขั้นต่อไป และช่วยลดปัญหาเมื่อมีการเดินทางจริงหลังจากไปสำรวจสถานที่และได้ข้อมูลกลับมาแล้ว ผู้สอนและผู้เรียนจึงวางแผนในรายละเอียดต่อไปเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องตกลงกันให้ชัดเจนมีหลายประการ ได้แก่
                    1) การเดินทาง จะใช้พาหนะ ไปอย่างไร
                    2) เรื่องที่จะศึกษามีอะไรบ้าง
                    3) วิธีการที่จะศึกษา จะใช้วิธีอะไรเช่น ใช้การสังเกต จดบันทึก อัดเทป ถ่ายภาพ ถ่ายวิดิทัศน์ สัมภาษณ์ เข้าร่วมกิจกรรม ลงมือปฏิบัติ ทดลอง ฯลฯ ซึ่งถ้าวิธีการที่จะใช้ดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์อะไร ก็ต้องมีการจัดเตรียมให้เรียบร้อย เช่น จัดทำแบบสังเกตแบบสัมภาษณ์ เตรียมเครื่องเล่นเทป กล้อง เป็นต้น
                    4) กำหนดการ ได้แก่ โปรแกรมการเดินทางที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน
                  5) ค่าใช้จ่ายจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละเรื่องรวมแล้วเป็นเท่าใดถ้าผู้เรียนจำเป็นต้องช่วยออกค่าใช้จ่าย จะเฉลี่ยกันออกมากน้อยเพียงใดและ
                    6) หน้าที่ความรับผิดชอบ ใครจะต้องช่วยส่วนไหนอย่างไร ควรกำหนดให้ชัดเจนเรื่องต่าง ๆ ที่ตกลงกันนี้ ควรจัดทำเป็นเอกสารแจกให้สมาชิกทุกคนได้รับรู้ตรงกัน ในเรื่องการวางแผนนี้ ถ้าผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้ช่วยกันคิดในแต่ละเรื่องให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน จะเป็นการดี เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมสูง และเกิดความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันสำหรับผู้สอนไม่ควรลืมที่จะติดต่อยืนยันต่อเจ้าของสถานที่อย่างเป็นทางการและขออนุญาตผู้บังคับบัญชาและผู้ปกครองนักเรียน ( ในกรณีที่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักศึกษานอกสถานที่ )
          2. การเดินทางไปทัศนศึกษา ผู้สอนควรดูแล เอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน และให้คำปรึกษาแนะนำตามความเหมาะสม
          3. ศึกษาในสถานที่เป้าหมาย เมื่อไปถึงยังสถานที่เป้าหมายแล้ว ผู้สอนควรประชุมผู้เรียนทั้งหมดก่อนปล่อยผู้เรียนให้ไปศึกษาตามความสนใจของตน โดยย้ำถึง
                    1) วัตถุประสงค์ของการมาศึกษา
                    2) การเคารพต่อสถานที่ ไม่ทำสิ่งใดอันเป็นการทำลายหรือทำความเสียหายต่อสถานที่
                    3) ความปลอดภัย
                    4) การศึกษาด้วยวิธีการที่เตรียมมา
                    5) การนัดหมายและการตรงต่อเวลา เมื่อทำความเข้าใจแล้ว จึงปล่อยให้ผู้เรียนไปศึกษาด้วยตนเอง โดยผู้สอนสังเกตการณ์ทั่ว ๆ ไป
          4. การเดินทางกลับ และสรุปบทเรียน โดยทั่วไป หลังจากที่ชมและศึกษาสถานที่แล้ว ผู้สอนและผู้เรียนมักไม่มีเวลาที่จะสรุปการเรียนรู้ในทันที เพราะต้องรีบเดินทางกลับ แต่หากไม่รีบเดินทางกลับและสามารถจัดสรรเวลาได้ การสรุปประเมินผลการเรียนรู้ในทันที จะให้ผลดีมากเนื่องจากผู้เรียนยังจำความคิด ประสบการณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี แต่ถ้ายังสรุปไม่ได้ทันทีจำเป็นต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง ความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์บางส่วนอาจเลือนไปบ้าง การสรุปผลการเรียนรู้ ทำได้หลายวิธี เช่น การให้ผู้เรียนแต่ละคนนำเสนอประสบการณ์และข้อมูลที่ตนได้จากการศึกษาและอภิปรายร่วมกันสรุปเป็นประเด็นการเรียนรู้ที่ได้รับและอาจจะประเมินดูว่าการเรียนรู้ที่ได้รับเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด หรือผู้สอนอาจให้ผู้เรียนเขียนเป็นรายงานจัดนิทรรศการ หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับแก่ผู้อื่น (เช่น ผู้เรียนกลุ่มอื่น ๆ หรือในการประชุมต่าง ๆ ) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้สอนจะใช้วิธีได ในการสรุปผลการเรียนรู้ ผู้สอนควรดูแลให้มีการสรุปให้คลอบคลุมประเด็นการเรียนรู้ทั้ง 3ด้าน คือ
                    1) การเรียนรู้ในด้านความรู้ (สิ่งที่ศึกษา)
                    2) การเรียนรู้ในด้านเจตคติ
                    3) การเรียนรูในด้านกระบวนการต่าง ๆ (เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ)
          ข้อดีของวิธีการสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษา
1) เป็นวิธีสอนทีช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้สภาพความเป็นจริง มีการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียนและความเป็นจริง
2) เป็นวิธีสอนที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและชุมชนให้เป็นประโยชน์ของการเรียนรู้ของผู้เรียน และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
3) เป็นวิธีการสอนที่เอื้อให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ทักษะการวางแผน ทักษะการประสานงาน ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการแสวงหาความรู้ นอกจากนั้นยังส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ความรับผิดชอบ ความสามัคคี ความเสียสละ เป็นต้น
4) เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น และความสนใจในการเรียนเพิ่มขึ้น
           ข้อจำกัดของวิธีการสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษา
1) เป็นวิธีสอนที่ยุ่งยากสำหรับผู้สอน เนื่องจากต้องมีการเตรียมการติดต่อประสานงาน จัดการ และรับผิดชอบงานหลายด้าน
2) เป็นวิธีสอนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลามาก และมีความเสี่ยง อาจเกิดอันตรายระหว่างการเดินทางได้
3) เป็นวิธีสอนที่อาจเกิดผลไม่คุ้มค่า หากการจัดการ และกระบวนการศึกษาไม่ดีเท่าที่ควร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รูปแบบการวิจัย (Research Design)

การวิจัยในชั้นเรียน : ความหมาย ความสำคัญ หลักการ ขั้นตอน

ประโยชน์ของการวิจัย