กระบวนการวิจัย

กระบวนการวิจัย คืออะไร
                    การวิจัยเป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยผ่านการวางแผน การรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลและการตีความหมายข้อมูล การวิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ได้ความรู้ใหม่มาเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าและพัฒนาคนให้สามารถเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการลดความขัดแย้งของคนลงได้
                   กล่าวสั้นๆ แล้ว  กระบวนการวิจัย ประกอบด้วย การวางแผนวิจัย (Planning) ปฏิบัติตามแผน(Acting)เก็บรวมรวมข้อมูล (Observing) และสะท้อนความรู้ ข้อค้นพบ ข้อสังเกต(Reflecting) หรือเรียก ย่อๆ ว่า กระบวนการ PAOR รายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนโดยยึดหลักการทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้
(1) การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน
การวิจัยในชั้นเรียนจะต้องเริ่มต้นด้วยการมองปัญหาของเรื่องที่จะวิจัยอย่างชัดเจนเพราะการมองเห็นปัญหานำไปสู่ความต้องการในแก้ไขปรับปรุงหรือการพัฒนาและความต้องการ นี้จะนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการวิจัยผู้วิจัยจะสามารถมองปัญหาการเรียนการสอนในรายวิชาที่ตนรับผิดชอบได้อย่างชัดเจนโดยทำการสำรวจข้อบกพร่องนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและความต้องการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุนั้นๆ แล้วเขียนออกมาในรูปวัตถุประสงค์ ของการวิจัย การดำเนินการในขั้นตอนที่1จะทำให้สามารถกำหนดปัญหาการเรียนการสอนได้อย่างเฉพาะเจาะจงและชัดเจน และสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้ด้วย
(2) การศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
เมื่อได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยแล้วก็ควรศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องที่จะทำการ วิจัยนั้นว่ามีอยู่ก่อนแล้วอย่างไรบ้าง การศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องช่วยครู อาจารย์ในเรื่องต่อไปนี้
         1. มองปัญหาที่จะทำวิจัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
         2. ได้แนวคิดความรู้พื้นฐาน ตลอดจนทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ที่จะศึกษา
         3. เห็นแนวทางในการศึกษาปัญหา
         4.สามารถอธิบายปัญหาโดยเฉพาะการกำหนดขอบเขตการวิจัยและสามารถอธิบายตัวแปรที่จะศึกษา
         5. สามารถตั้งสมมติฐานได้อย่างสมเหตุสมผล
         6. เลือกเทคนิคการสุ่มตัวอย่างได้เหมาะสม
         7. เลือกเครื่องมือเก็บรวมรวมข้อมูลได้ถูกต้อง
         8. เลือกวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม ในขั้นตอนนี้ผู้วิจัยจะได้เทคนิคในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับหลักการทฤษฎี หรืองานวิจัยที่มีผู้ศึกษาไว้ แล้ว
(3) การพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน
นวัตกรรมเป็นรูปแบบหรือวิธีการเรียนการสอนที่ครูอาจารย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในการเรียนการสอนหรืออาจนำรูปแบบและวิธีการสอนที่ทำไว้แล้วมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ต้องการแก้ไข เช่น สื่อการ เรียนการสอน บทเรียนโปรแกรมชุดการสอนคู่มือครูฯลฯในขั้นตอนนี้ผู้วิจัย จะได้นวัตกรรมที่คาดว่ามีคุณภาพเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา
(4) การสร้างและพัฒนาเครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล
          ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจะใช้เครื่องมือชนิดใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัยและตัวแปรที่จะวัด เช่น แบบทดสอบ ใช้วัดตัวแปรเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถาม ใช้วัดตัวแปรเกี่ยวกับความจริง ความคิดเห็น ความรู้สึก แบบสังเกต ใช้วัดตัวแปรเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ลักษณะการปฏิบัติ สภาพแวดล้อม บรรยากาศการเรียนการสอนฯลฯ ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาเครื่องมือแต่ละชนิดทั้งในด้านลักษณะของเครื่องมือวัดวิธีการสร้างข้อดีและข้อจำกัดของเครื่องมือแต่ละชนิดซึ่งเครื่องมือวัดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นหรือที่ผู้อื่นสร้างไว้แล้วจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ เช่น ความตรง (validity) ความเชื่อมั่น (reliability)
(5) การทดลอง การรวบรวม การวิเคราะห์ และสรุปผล การวิจัย
เมื่อผู้วิจัยสร้างนวัตกรรมและเครื่องมือวัดแล้วขั้นตอนต่อไป คือนำนวัตกรรมนั้นไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ตามแนวทางที่กำหนดไว้ ผู้วิจัยควรจัดทำปฏิทินปฏิบัติงาน กำหนดระยะเวลาของการดำเนิน งานในแต่ละขั้นตอนไว้

 (6) การเขียนรายงานการวิจัย
การเขียนรายงานการวิจัย เป็นการรายงานการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และสำรวจปัญหา การพัฒนานวัตกรรม การทดลองใช้ การวิเคราะห์ผลสรุปผลอภิปรายและเสนอแนะเป็นการเสนอสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบเพื่อรายงานผลการศึกษาให้ผู้อื่นทราบเพื่อการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลในการอ้างอิง






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รูปแบบการวิจัย (Research Design)

ประโยชน์ของการวิจัย

SU Model